สุขเกษียณกับแนวทางดูแลสุขภาพในช่วงโควิด-19
ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คนต่อวัน ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดที่สูงขึ้น รัฐบาลมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุม เช่น ตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ติดเชื้อ งดบริการในสถานบันเทิง ให้ปิดสถานบริการ ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อเร็วกว่าปกติ ขอความร่วมมือจากประชาชาชนให้กักตัวเมื่อเข้าสู่ภาวะเสี่ยงเพื่อสังเกตอาการ เน้นการทำงานที่บ้านแทนการเข้าสำนักงาน (work from home) รวมทั้งดูแลคนในครอบครัวที่ร่างกายไม่แข็งแรงและผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด
โรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 ส่วนมากเริ่มมีอาการหลังการได้รับเชื้อ 2-7 วัน อาการคือ มีไข้ 37.2-38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หอบเหนื่อย เพลีย ปวดหัว เมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคร่วม เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ปอดเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรัง หลอดเลือด หรือมะเร็ง หากมีการติดเชื้อจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป เนื่องด้วยสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ภูมิคุ้มกันลดลงตามวัย โดยผู้สูงอายุอาจมีอาการที่ไม่ตรงไปตรงมาเมื่อเจ็บป่วย ข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ อ่อนเพลีย ซึม สับสนเฉียบพลัน เบื่ออาหาร ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว
แนวทางการดูแลผู้สูงอายุทั่วไป
หลีกเลี่ยงการเดินทางไปสถานที่แออัด รักษาระยะห่าง (social distancing) จากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
รับประทานยาประจำตัวให้สม่ำเสมอ ดูแลเรื่องอาหารการกินให้ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ
ปิดปากและจมูกเมื่อไอจาม
สวมหน้ากากอนามัย เมื่อมีอาการไข้หวัด ไอจาม หรือไปในที่สาธารณะ
ไม่เอามือสัมผัสหน้า จมูก ปาก
ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ โดยใช้สบู่ให้ทั่วมืออย่างน้อย 20 วินาที และเช็ดให้แห้ง หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดบ่อย ๆ 7. ทำความสะอาดเครื่องใช้ในบ้านให้บ่อยขึ้น 8.ผ่อนคลายความเครียด 9.หากควบคุมโรคประจำตัวได้ดี อาจขออนุญาตแพทย์ที่ดูแล รับยาและเลื่อนนัดหมายให้นานกว่าปกติ ลดการไปโรงพยาบาล 10.ช่วงที่ป่วย ให้รีบพบแพทย์ แยกตัวจากผู้อื่น ไม่ควรใช้ยาไอบูโพรเฟ่น (ibuprofen) ในการลดไข้ ควรใช้พาราเซตามอล
(ข้อมูลจาก : ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุบางรายต้องการผู้ดูแล ซึ่งผู้ดูแลบางคนมีความจำเป็นที่ต้องเดินทางออกนอกบ้านเพื่อทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็น ทำให้มีความเสี่ยงในการนำเชื้อมาสู่ผู้สูงอายุภายในบ้านได้ ควรต้องดูแลและป้องกันตัวเองอย่างระมัดระวัง โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แนะนำ 15 พฤติกรรมลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังต่อไปนี้
ล้างมือหรือยัง
ล้างมือให้สะอาด อย่างน้อย 20 วินาที
เช็ดมือให้แห้งหลังล้างมือ ช่วยลดการปนเปื้อน
สวมหน้ากากให้สนิท ปิดจมูกและปาก
ซักหน้ากากผ้าทุกวัน
บันทึกการเดินทาง ช่วยรับรู้ความเสี่ยง
ถ้ารู้ว่าเสี่ยง กักตัวดูอาการ
กินอาหารต้องปรุงสุก
เช็ดมือถือด้วยแอลกอฮอล์ ลดแหล่งเชื้อโรค
เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร
กลับถึงบ้าน อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
บอกความจริงกันเถอะ จะได้ช่วยกันระวังตัว
กักตัวดูอาการ ระหว่างรอผล
พูดคุยกันอย่าถอดหน้ากาก
เลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก ลดโอกาสการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
อีกทั้ง สสส. ยังแนะนำให้งดการเลี้ยงสังสรรค์และการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 อีกทางหนึ่ง โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เผยข้อมูลวิชาการยืนยันว่า การดื่มเหล้าทำลายภูมิคุ้มกันร่างกาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงอวัยวะต่าง ๆ อักเสบรุนแรง
“ฤทธิ์ของเหล้าจะเข้าไปทำให้ภูมิคุ้มกัน 2 ชนิดในร่างกายบกพร่อง ได้แก่ ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (innate) และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired) นอกจากนี้การดื่มเหล้ายังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถตรวจจับ กำจัด และทำลายเชื้อโควิด-19 หรือต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดใหม่ ๆ ได้ โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.แอลกอฮอล์ไปเพิ่มจำนวนตัวรับ (receptors) ซึ่งเป็นช่องทางหลักของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2.แอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากเกินปกติ อวัยวะทำงานผิดปกติ จนมีภาวะแทรกซ้อน ‘อักเสบรุนแรง (hyper-inflammation)’ และ 3.แอลกอฮอล์ทำให้ความสามารถของร่างกาย ในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อบกพร่อง” ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการ ศวส. กล่าว
การดูแลสุขภาพในช่วงการระบาดโควิด-19 ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวหรือร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ แนวทางดังกล่าวเป็นวิธีการสำคัญที่ช่วยดูแลป้องกันได้ทางหนึ่ง
อย่างไรก็ก็ตาม ชาวสุขเกษียณควรติดตามข่าวสารสถานการณ์อยู่เสมอ จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้และเท่าที่จำเป็น หมั่นสังเกตอาการตนเองหรือคนในครอบครัว หากิจกรรมที่ปลอดภัย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ ดูหนังที่บ้าน เพื่อผ่อนคลาย ไม่หวั่นวิตกจนเกินไป ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น นอกจากจะเป็นการป้องกันตัวเองแล้ว ยังเป็นการช่วยสังคมให้ผ่านวิกฤติโควิด-19 นี้ให้ไปด้วยกัน
ข้อมูลบางส่วนจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศคบ.), กรมการแพทย์ และศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
