United Nations Day: องค์การสหประชาชาติและส่วนร่วมของประเทศไทย

เนื่องในวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสหประชาชาติ (United Nations Day)” เนื่องจาก เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) “องค์การสหประชาชาติ (United Nation Organization: UN)” ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ โดยมีประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ เพื่อการนี้จึงกำหนดให้เป็นวันกำเนิดขององค์การสหประชาชาติ เพื่อระลึกแก่การกำเนิดของสหประชาชาติ โดยให้ตระหนักถึงความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน เพื่อเสริมสร้างสันติภาพ และความมั่นคงให้เกิดขึ้น
องค์การสหประชาชาติ
องค์การสหประชาชาติ เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการนำสันติภาพโลก โดยพยายามให้มนุษย์โลกอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคและสงบสุข ก่อตั้งในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) โดยความร่วมมือของ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ (ในขณะนั้น) และ แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ในขณะนั้น) ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ
1. เพื่อระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศคู่กรณีด้วยสันติวิธี
2. เป็นแกนกลางในการนำสันติภาพถาวรสู่โลก
3. เป็นศูนย์กลางความร่วมมือช่วยเหลือระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
องค์การสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ นครนิวยอร์ก (New York) ประเทศสหรัฐอเมริกา ภาษาทางการมี 6 ภาษา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย จีน และอาหรับ
เหตุการณ์การก่อตั้ง
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ผู้แทนประเทศต่าง ๆ ได้มาประชุมร่วมกัน ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ เพื่อเจรายุติสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการลงนามในปฏิญญาลอนดอน ระหว่างบรรดาผู้แทนรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศอังกฤษ และเสนอให้จัดตตั้งองค์การสันติภาพโลก
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้แถลงการณ์ร่วมกับ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บนเรือรบประจัญบานออกัสตา ซึ่งเรียกแถลงการณ์นี้ ว่า “กฎบัตรแอตแลนติก” เพื่อก่อตั้งองค์การสันติภาพและก่อให้เกิดการร่วมลงนามในปฏิญญาสหประชาชาติ ทำให้เกิดคำว่า “สหประชาชาติ”

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) ผู้แทนจากจีน สหภาพโซเวียต อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้ประชุมหารือและลงนางในปฏิญญามอสโก
วันที่ 21 สิงหาคม ถึงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2487 (ค.ศ 1944) ผู้แทนจากจีน สหภาพโซเวียต อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับร่างกฎบัตรลงประชามติ ที่ ดัมบาร์ตัน โอ๊ค ชานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 4-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำสหภาพโซเวียต (ในขณะนั้น) ร่วมประชุม ณ เมืองยัลตา แหลมไคลเมีย สหภาพโซเวียต เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎบัตรของสหประชาชาติ โดยตกลงกันในเรื่องสิทธิยับยั้งความปลอดภัย
เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) มีการประชุมที่ ซานฟรานซิสโก ระหว่างประเทศต่าง ๆ จำนวนน 50 ประเทศ เพื่อร่วมลงนามในกฎบัตรของสหประชาชาติ
กระทั่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) กฎบัตรสหประชาชาติได้รับสัตยาบันจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียต จีน และประเทศส่วนใหญ่ที่ลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎบัตรเริ่มมีผลบังคับใช้ ดังนั้น จึงกำหนดให้วันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันสหประชาชาติ”

องค์กรหลักของสหประชาชาติ
1. สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) สมาชิกขององค์การสหประชาชติทุกประเทศต้องเป็นสมาชิกสมัชชาด้วย สมัชชาฯ จะจัดให้มีการประชุมสมัยสามัญ ในวันอังคารที่ 3 ของเดือนกันยายน และอาจมีการประชุมสมัยพิเศษขึ้นตามโอกาส ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้ง ประเทศสมาชิกมีสิทธิส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมได้ แต่ไม่เกิน 5 คน แต่ละประเทศมีสิทธิ์ออกเสียงได้ประเทศละ 1 เสียง
สมัชชาฯ ประกอบด้วยประธานสมัชชา 1 คน รองประธาน 17 คน โดยคัดเลือกจากทวีปยุโรป 3 คน อเมริกาใต้ 3 คน เอเชียและแอฟริการ 7 คน และประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง 5 คน และถ้าประธานมาจากพื้นที่ไหน รองประธานเขตนั้นจะต้องลดลง 1 คน
2. คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) หน้าที่ของคณะมนตรีความมั่นคง คือ การระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถใช้กำลังทหารในการระงับข้อพิพาทนั้นได้ รักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ สอบสวนกรณีพิพาทหรือสาเหตุอันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันได้ และหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางด้านสันติภาพของโลก
ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ มีสมาชิกถาวร (Permanent Members) อีก 10 ประเทศ และอยู่ในตำแหน่งครั้งละ 2 ปี
3. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council) มีหน้าที่ประสานงานให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และมนุษยธรรม ระหว่างสมาชิกประเทศ สมาชิกจำนวน 54 ประเทศ อยู่ในตำแหน่งครั้งละ 3 ปี
4. คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council) มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและดูแลการบริหารงานดินแดนที่อยู่ในภาวะทรัสตี สมาชิก และคณะมนตรีนี้ ได้แก่ ประเทศที่ทำหน้าที่ปกครองดินแดนในภาวะทรัสตี สมาชิกประจำคณะมนตรีความมั่นคงและสมาชิกอื่น ๆ ที่เลือกตั้งโดยสมัชชา คณะมนตรีภาวะทรัสตีได้ดำเนินโยบายที่จะให้ประเทศที่อยู่ในภาวะทรัสตี สามารถประกาศตนเองเป็นเอกราชได้ และสามารถทำสำเร็จมาแล้วหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกา
5. สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ (The Secretariat) มีหน้าที่ควบคุมการบริหารและธุรการขององค์กรต่าง ๆ ในองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง และปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพของโลก มีเลขาธิการเป็นผู้บริหารงาน อยู่ในตำแหน่งครั้งละ 5 ปี โดยการแต่งตั้งจากการประชุมสมัชชาใหญ่
สำนักเลขาธิการประกอบด้วยองค์กรย่อยดังต่อไปนี้
5.1 กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ United Nations Children's Fund - UNICEF ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการรณรงค์ให้รัฐบาลและบุคคลทั่วไปตระหนักในสุขภาพความเป็นอยู่ และการเจริญเติบโตของเด็กทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ รวมถึงสนับสนุนโครงการสำหรับเด็กทั่วโลกองค์การยูนิเซฟเคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2508
5.2 สถาบันฝึกอบรบและวิจัยของสหประชาชาติ United Nations Institute for Training and Research - UNITAR
5.3 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ United Nations Development Programme - UNDP ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 เพื่อเสริมสร้างและสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาให้สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ ดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ดำเนินการในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการลดของเสียและเศษขยะ รวมถึงการสนับสนุนพัฒนาการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการขจัดความยากจนให้หมดไป โดยการส่งเสริมทักษะทางวิชาชีพ
5.4 ที่ประชุมว่าด้วยการค้าและพัฒนาการแห่งสหประชาชาติ United Nations Conference on Trade and Development - UNCTAD
5.5 องค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ United Nations Industrial Development Organization - UNIDO ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 ในฐานะหน่วยงานหนึ่งในองค์การสหประชาชาติเพื่อเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรม และได้ยกฐานะขึ้นเป็นองค์การพัฒนาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2529
5.6 สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ United Nations High Commissioner for Refugee - UNHCR ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2494 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่อยู่นอกประเทศ เนื่องจากเกิดความหวาดกลัวอย่างมีเหตุผลเพียงพอว่าจะถูกประหัตประหาร เพราะความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติของสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเพราะความคิดเห็นทางการเมือง เป็นผู้ซึ่งไม่อาจหรือไม่ยินดีรับความคุ้มครองจากประเทศนั้น ๆ ไม่ยินดีกลับไปเพราะกลัวจะถูกประหัตประหาร